เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เข้าอำลาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการ
เวลา 13.00 น. รมว.ศธ.เดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี (อดีต รมว.ศธ.คนล่าสุด) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการให้การต้อนรับ จากนั้น รมว.ศธ.ได้ไปสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวง "พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์" และศาลพระภูมิ รวมทั้งสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ที่สนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ
จากนั้น รมว.ศธ.ได้รับมอบงานการศึกษาจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ศธ.เข้าร่วมกว่า 200 คน ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอต้อนรับนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งมีความคุ้นเคยเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี สิ่งที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รวมทั้งตน ได้ดำเนินการตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา มีความคืบหน้าหลายประการ หลายเรื่องดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลายเรื่องกำลังดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ เช่น การปฏิรูปหลักสูตรที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือน และมีอีกหลายเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับ รมว.ศธ.คนใหม่มาเป็นเวลานาน จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้ที่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาของไทยไปในแนวทางที่ถูกต้อง ดีที่สุด หวังว่าผู้บริหาร ศธ.จะช่วยกันขับเคลื่อนงานของ รมว.ศธ.คนใหม่ได้เป็นอย่างดี



รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง มีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เข้ามาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งหนึ่ง เชื่อมั่นว่าการกลับมาทำงานในครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เมื่อทราบว่าจะได้มาเป็น รมว.ศธ.นั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนาได้ส่งเอกสารข้อมูลด้านการศึกษาต่างๆ มาให้ ซึ่งได้อ่านทั้งหมดแล้ว ทราบว่า รมว.ศธ.แต่ละท่านที่เคยดำรงตำแหน่งในสมัยรัฐบาลนี้ ได้ใช้นโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาเข้ามาบริหาร แต่อาจจะมีจุดเน้น จุดเด่นที่ต่างกัน เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประกาศเป็นจุดเน้นนโยบายด้านการศึกษา 11 ข้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลอย่างชัดเจน และเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งสิ้น จึงย้ำว่าจะสานต่อเรื่องที่ได้ริเริ่มไว้และดำเนินการทั้ง 11 เรื่องต่อไป
ทั้งนี้ จะมีการประชุมหารือกับผู้บริหาร ศธ.ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร ศธ.ด้วย จึงขอฝากการบ้านให้นำนโยบายด้านการศึกษาไปพินิจพิเคราะห์อีกครั้ง เพื่อจะนำมากำหนดเป็นนโยบายการศึกษา และขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป


ภาพ สถาพร ถาวรสุข
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องมีการพัฒนา มีการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การที่อยู่ในทวีปเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นทวีปที่มีศักยภาพมากที่สุดในเวลานี้ ในขณะเดียวกันโลกปัจจุบันกำลังมีวิกฤตทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันในเวทีต่างๆ และเวทีโลกได้ แต่การจะปรับตัวเข้าไปอยู่ในเวทีโลกได้ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา "คน" ซึ่งเป็นงานด้านการศึกษา ตนจึงจะสานต่อนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เพื่อให้การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคนต่อไป
ขณะเดียวกันเมื่อดูจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆ ในโลก การที่ประเทศไทยจะต้องตักตวง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งยกเครื่องงานด้านการศึกษาโดยเร็วเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต งานของ ศธ.จึงเป็นงานที่หนัก ช่วงที่ผ่านมาตนได้รับความร่วมมือในการทำงานดีมาก ดังนั้นเมื่อกลับมาทำงาน ศธ.อีกครั้งหนึ่ง จึงมั่นใจว่าจะร่วมมือกันทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะงานด้านการศึกษาเป็นงานที่ต้องอาศัยคนทั้งกระทรวงและสังคมช่วยกันผลักดัน ความร่วมมือภายในกระทรวงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็จะต้องทำความเข้าใจกับผู้คนทั้งสังคมและผู้สนใจทั้งหลายได้ช่วยกันผลักดันงานด้านการศึกษาของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ส่วนปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นของ ศธ.นั้น ย้ำว่าจะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการอย่างเต็มที่ และจะดูแลเรื่องเหล่านี้เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชันขึ้นอีกในกระทรวงศึกษาธิการ
ประวัติส่วนตัว
เกิดเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2499
ประวัติการศึกษา
-
มัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
-
ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
-
ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
-
27 กรกฎาคม 2529 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์
-
24 สิงหาคม 2531 กรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน
-
24 กรกฎาคม 2531 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคประชาชน
-
22 มีนาคม 2535 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคความหวังใหม่
-
19 ตุลาคม 2535 กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
-
1 มีนาคม 2538 โฆษกพรรคความหวังใหม่
-
2 กรกฎาคม 2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคความหวังใหม่
-
8 สิงหาคม 2538 ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-
17 พฤษภาคม 2539 โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
-
29 พฤศจิกายน 2539 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
-
27 เมษายน 2542 เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
-
6 มกราคม 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
-
17 กุมภาพันธ์ 2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
-
27 มกราคม 2545 รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
-
5 มีนาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คนที่ 38
-
3 ตุลาคม 2545 รองนายกรัฐมนตรี
-
6 กุมภาพันธ์ 2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
-
11 มีนาคม 2548 รองนายกรัฐมนตรี
-
2 สิงหาคม 2548 - 19 กันยายน 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
-
2 เมษายน 2549 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
-
13 ตุลาคม 2549 รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
-
30 มิถุนายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
1/7/2556
ที่มาข่าว สำนักงานรัฐมนตรี